เมื่อปฏิบัติธรรมที่บ้าน แล้วคนที่บ้านรบกวน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จะเป็นบาปไหม ?
เมื่อไปถึงจุดหนึ่งที่เราต้องการความวิเวก เช่น นั่งสมาธิ ต้องการความสงบเงียบ
ปราศจากเสียงทีวีหรือคุยเล่นดังๆรบกวน แต่คนในบ้านยังไม่ได้พร้อมจะวิเวกร่วมกับเรา
หรือกระทั่งยอมเสียสละเพื่อเรา
จะได้รับความวิเวก ซึ่งก็อาจกลายเป็นความกังวลสำหรับเราเอง
เกรงว่าการใช้เสียงรบกวนผู้ทำสมาธิ จะเป็นบาปเป็นกรรมสำหรับพวกเขาไป
เพื่อความสบายใจ
ประการแรกให้ระลึกว่าบาปนั้น เกิดจากกรรมในทางประทุษร้ายผู้อื่น
กรรมคือเจตนา เจตนาคือกรรม ถ้าไม่ได้จงใจกลั่นแกล้ง
ก็ไม่มีบาปโทษอะไรเกิดขึ้นกับเขา
ประการต่อมา
คือหลีกเลี่ยงที่จะกระตุ้นให้พวกเขาจงใจกลั่นแกล้ง คนเราเวลาอยู่ใกล้ชิดกันใต้ชายคา
อาจนึกสนุกอยากแกล้ง แบบยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ แต่ถ้าไม่ห้าม ก็ไม่ไปสร้างแรงยั่วขึ้นมา
แค่ให้พวกเขารับรู้ว่าเราปฏิบัติธรรม แต่ถ้าจะนั่งสมาธิ ให้แอบๆทำ ไม่ให้ใครเห็น
หรือถ้าเป็นพื้นที่ที่กั้นหูกั้นตาใครไม่ได้
ก็ไม่ประกาศว่า ฉันจะทำสมาธิล่ะนะ ห้ามเปิดทีวีรบกวน
ซึ่งเมื่อไม่แสดงออกถึงความรำคาญ ไม่ไปพูดขอความร่วมมือให้เขาเกิดความอึดอัด
อยู่ๆก็คงไม่จงใจ นึกอยากก่อกวนเราขึ้นมา
เมื่อเข้าใจก็จะเห็นใจ และยอมรับข้อจำกัดได้ ‘บ้าน’ คือสถานที่ส่วนตัว
ออกแบบมาให้ใช้งานเอนกประสงค์ โดยเดิมไม่ถูกจดจำว่าเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม
ตรงข้าม สำหรับคนส่วนใหญ่ บ้านคือที่พักผ่อน ที่เล่น
ที่ทำอะไรตามใจชอบประสาชาวบ้านรักสนุก
หากไม่มีอาณาบริเวณกว้างขวางพอ ก็ต้องรับสภาพ รับข้อจำกัดที่ว่า
เราคนเดียวคงไปกั้นเขต ‘ห้ามสนุก’ กับทุกคนไม่ได้หรอก
เมื่อยอมรับข้อจำกัดได้
ก็จะปฏิบัติธรรมที่บ้านตามอัตภาพได้ อย่างรู้ว่าการปฏิบัติธรรมที่แท้จริง
คือการมีสติทราบชัดว่า กำลังเกิดอะไรขึ้น ภายในกายใจนี้
รู้ชัดเพื่อจะรู้ต่อไปอีกว่าอะไรนั้นไม่เที่ยง
กระทั่งเกิดข้อสรุปเป็นปกติว่า นั่นไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ภาวะบุคคลของใคร
เมื่อเข้าใจถูก
ก็ย่อมมีโอกาสปฏิบัติถูกเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน สถานการณ์ใด
เช่น แม้ในเวลาถูกรบกวนด้วยเสียงจนแทบไม่มีสมาธิ
เราก็จะเห็นได้เป็นขณะๆ ในแต่ละระลอกลมหายใจว่า
ความฟุ้งซ่าน ความหงุดหงิด ความอยากลุกขึ้นมาขอให้ปิดเสียง
คือภาวะอะไรอย่างหนึ่ง ที่ไม่คงรูป ไม่คงขนาดเท่าเดิมอยู่ตลอดเวลา
บางลมก็ฟุ้งหนาแน่น บางลมก็ฟุ้งเบาบาง
ซึ่งเพียงเท่านั้น ก็ได้ชื่อว่าฝึกรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในกายใจแล้ว
เห็นความไม่เที่ยงของมันบ้างแล้ว
ตรงข้าม หากไม่เข้าใจแก่น
แม้ได้ความสงบวิเวกที่บ้าน แม้ปฏิบัติจนเกิดสมาธิ
ก็มีสิทธิ์หลงความสงบ หลงสมาธิ หลงอัตตาแบบใหม่อันเกิดจากการมีสมาธิดีๆ
ไม่อยากให้สมาธิแปรปรวนไป ไม่ยอมดูอนิจจังของสมาธิจิต
หรือวันดีคืนดีก็เกิดโทสะที่ทำสมาธิไม่ได้อย่างเคย
เกิดโทสะแล้วมองไม่เห็นโทสะแสดงอนิจจังบ้างเลย
อันนี้ก็จัดว่า ปฏิบัติไม่ตรงทาง
หรือปฏิบัติไม่ประสบความสำเร็จแบบพุทธแล้ว!
Credit : BuranaBuddha.org