การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์ที่ต้องการสร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ต้องผ่านกระบวนการทดสอบ
ตัวเองที่เรียกว่า บารมีคือ งานของผู้สูงส่ง ๑๐ อย่าง (วิสุทฺธิ. ๑/๒๗๔/๓๕๗-๕๘) คือ
๑. ทาน การเสียสละสิ่งของ ทรัพย์สิน อวัยวะ และชีวิตของตน รวมไปถึงคน
เกี่ยวข้องคือบุตรธิดาและภรรยา เพื่อขจัดความตระหนี่ในใจ
๒. ศีล การสํารวมกายวาจาเพื่อไม่ทําร้ายคนอื่น เป็นการขจัดความคิดมุ่งร้ายต่อคน
อื่นด้วยความโลภหรือความโกรธของตน และเป็นการเจริญเมตตากรุณาไปด้วย
๓. เนกขัมมะ คือ การหลีกเลี่ยงจากกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และ
สัมผัส มีประโยชน์เพื่อบําเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะศีลที่เป็นปราศจากกิเลสรบกวนจิต
ย่อมเป็นศีลที่ยิ่งใหญ่ ไม่ขาด ทะลุด่าง หรือพร้อย
๔. ปัญญา คือ การเพิ่มพูนความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อขจัดความโง่เขลา
เบาปัญญาในสิ่งที่เป็นโทษหรือประโยชน์แก่เหล่าสัตว์
๕. วิริยะ คือ ความเพียร มีประโยชน์เพื่อบําเพ็ญประโยชน์สุขแก่เหล่าสัตว์อยู่เสมอ
๖. ขันติคือ ความอดทน มีประโยชน์เพื่อให้อภัยโทษต่างๆ ของเหล่าสัตว์
๗. สัจจะ คือ ความสัตย์จริง มีประโยชน์เพื่อไม่หลอกลวงตามที่ได้ปฏิญาณว่าเราจะ
ให้แก่พวกท่าน เราจะทํา
๘. อธิษฐาน คือ ความตั้งใจจริง มีประโยชน์เพื่อทําใจให้ตั้งมั่นเพื่อประโยชน์สุขแก่
เหล่าสัตว์
๙. เมตตา คือ ความเป็นมิตรกับทุกคน มีประโยชน์เพื่อช่วยเหลือเหล่าสัตว์ก่อน
ด้วยเมตตาที่ตั้งมั่นในสัตว์เหล่านั้น ไม่ต้องรอให้ได้รับบุญคุณจากผู้อื่นก่อนจึงค่อยตอบแทน
๑๐. อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง มีประโยชน์เพื่อไม่ปรารถนาการตอบแทน
จากเหล่าสัตว์เพราะบุญบารมีเป็นสิ่งที่อํานวยผลแก่พระโพธิสัตว์เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า
แล้วนั่นเอง
–Samantabhadra–
บุรุษผู้สร้างบารมีอย่างน้อย ๔ อสงไขยแสนมหากัปครบถ้วนแล้ว จะเป็นผู้มีอัธยาศัย
ยิ่งใหญ่ ผ่านการทดสอบมากมายจนกระทั่งเป็นคนไม่ตระหนี่ ไม่คิดร้ายคนอื่น ไม่เพลิดเพลิน
ในกามคุณ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ขยันหมั่นเพียร อดทน ซื่อสัตย์ตั้งใจริง เป็นเมตตากับ
ทุกคน และรู้จักวางใจเป็นกลางในสุขทุกข์ก็จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ได้
คนที่ไม่ผ่านกระบวนการทดสอบเช่นนี้ย่อมไม่อาจบรรลุคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ได้เลย
เพราะเหตุว่า
“คุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ย่อมมาพร้อมกับการทดสอบที่ยิ่งใหญ่”
พระคันธสาราภิวงศ์