การสวดมนต์คืออะไร

การสวดมนต์คืออะไร

การสวดมนต์คือการสาธยายคําบาลีที่เกี่ยวกับพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และการแผ่เมตตา จะเห็นได้ว่าในบทสวดมนต์เช่น รัตนปริตรโมรปริตร เป็นต้น กล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัย เมตตปริตรกล่าวถึงการแผ่เมตตาเป็นหลัก ส่วนขันธปริตรกล่าวถึงการแผ่เมตตาและคุณของพระรัตนตรัยทั้งสองอย่าง

นอกไปจากการสาธยายคําบาลีแล้ว ชาวพุทธยังนิยมสวดคําแปลของคําบาลีเหล่านั้นอีกด้วย เพื่อให้เราเข้าใจว่ากําลังกล่าวถึงอะไร จึงจะทําให้เข้าใจสิ่งที่กําลังทําอยู่อย่างชัดเจน

มีหลักฐานกล่าวถึงการสวดมนต์ไว้ในสมัยพุทธกาล คือ ในคัมภีร์อรรถกถาของคัมภีร์สุตตนิบาต ธัมมิกสูตร (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๘๓/๑๙๐) ปรากฏเรื่องของอุบาสิกาชื่อว่า นันทมาตา ในนครเวฬุกัณฑกะ ได้ยืนสาธยายอัฏฐกวรรคและปารายนวรรคของคัมภีร์สุตตนิบาตอยู่ริมหน้าต่างที่เปิดไว้ในขณะนั้นท้าวเวสสุวัณซึ่งอยู่ในระหว่างทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผ่านมาได้ยินเสียงสาธยาย ก็หยุดยืนประนมมือฟังจนจบ และได้กล่าวสาธุการอนุโมทนาบุญ นาง
ได้ยินเสียงสาธุการจึงถามว่า ใครอยู่ที่นั่น ท้าวเธอตอบว่า เราเป็นท้าวเวสสุวัณยืนฟังธรรมที่ท่านสาธยายอยู่ จึงปลื้มใจแล้วกล่าวสาธุการ

แม้การสาธยายอัฏฐกวรรคและปารายนวรรคของคัมภีร์สุตตนิบาตของนางนันทมาตาจะไม่ใช่การสวดมนต์โดยตรง เพราะไม่ใช่การสาธยายคุณของพระพุทธเจ้าเป็นต้น แต่เป็นการทบทวนคําสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อรักษาคําสอนให้สืบทอดถึงอนุชนต่อไป แต่ก็อนุโลมเข้าใน
การสวดมนต์เพราะเป็นการสาธยายคําสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนพระพุทธคุณเป็นต้น ดังนั้น ผู้สวดมนต์จึงไม่ควรสวดในใจอย่างเดียว แต่ควรเปล่งเสียงทางวาจาเพื่อให้บุคคลอื่นได้ยินแล้ววร่วมอนุโมทนาบุญอีกด้วย ชาวพุทธจึงนิยมเปล่งเสียงสวดมนต์ให้ผู้อื่นได้ยิน

ปัจจุบันภิกษุสงฆ์ในวัดๆ ทั้งในไทย พม่า และลังกา มีกิจวัตรคือการสวดมนต์ทําวัตร
เช้า-เย็น พระไทยมักสวดมนต์ทําวัตรเช้าหลังอาหารเช้าในเวลา ๘.๐๐ น. ยกเว้นวัดป่ามัก
สวดมนต์ในเวลา ๔.๐๐ น. พระพม่ามักสวดมนต์ในเวลา ๔.๓๐ น. หลังตื่นนอนในเวลา๔.๐๐ น.

การสวดมนต์นี้ในภาษาบาลีเรียกว่า พุทฺธุปฏฺฐาน คือ การปรนนิบัติพระพุทธเจ้าเป็นบาลีที่โบราณาจารย์พม่าใช้กันต่อๆ มา อนึ่ง ยังไม่พบหลักฐานในพระไตรปิฎก อรรถกถา หรือฎีกาว่าการสวดมนต์ทําวัตรเช้า-เย็น เป็นธรรมเนียมของพระภิกษุในวัดมาตั้งแต่สมัยไหน

อย่างไรก็ตาม บทสวดมนต์ทําวัตรเช้า-เย็นที่นิยมสวดในเมืองไทยนั้นเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ เดิมทีนั้นคนไทยนิยมสวดมนต์ด้วยบทสวดมนต์ที่เรียกว่า เจ็ดตํานานและสิบสองตํานาน ซึ่งก็คือพระปริตรนั้นเอง แม้พระพม่าและพระสิงหลก็นิยมสวดพระปริตรเช่นเดียวกัน มีข้อต่างกันที่พระพม่าจะสวดมนต์ที่กล่าวถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณเป็นภาษาพม่าล้วนๆ อีกด้วย บทสวดมนต์ภาษาดังกล่าวเป็นคําแปลของบาลีว่า อิติปิโสภควา เป็นต้น มีนับสิบสํานวนตามอาจารย์ผู้แต่งในวัดนั้นๆ

พระคันธสาราภิวงศ์